Wednesday, July 8, 2009

ข้อแนะนำในการเลือกอาหารที่ดีและถูกหลักโภชนาการมีดังนี้

ข้อแนะนำในการเลือกอาหารที่ดีและถูกหลักโภชนาการมีดังนี้

1. เลือกกินอาหารในแต่ละวันให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
2. เลือกกินอาหารที่มีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ตามวัย เพศ และกิจกรรมของแต่ละบุคคล
3. เลือกอาหารที่สามารถย่อยและดูดซึมได้ดี
4. เลือกอาหารที่สด สะอาด ซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นตามฤดูกาล
5. คำนึงถึงประโยชน์และคุณค่าของอาหารมากกว่าราคา และรสชาติของอาหาร
6. เลิกความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการกินอาหาร
มีการสำรวจในด้านอาหารการกินจากหลายแหล่งสนับสนุนว่า อาหารที่คนไทยส่วนใหญ่บริโภคยังมีปริมาณโปรตีนต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง และยังใช้วิธีหุงต้มที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น การใช้ข้าวขาว หุงแบบเช็ดน้ำ การหั่นเนื้อสัตว์และผักสด ก่อนจึงนำไปล้าง วิธีการที่ว่านี้ทำให้สูญเสียเกลือแร่แลไวตามินไปกับน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งแสดงว่าควรมีการเผยแพร่ความรู้ทางโภชนาการไปสู่ประชาชน ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะควรเน้นในเรื่องการปฏิบัติทางด้านอาหารและโภชนาการให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น ตั้งแต่การกำหนด รายการอาหาร การเลือกซื้อ การเตรียม การปรุง และการเลือกรับประทานให้ถูกต้องกับหลักโภชนาการยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันมีเรื่องข้อจำกัดของเวลา และเศรษฐกิจ เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการคือ ประชาชนมีเวลา และงบประมาณในการเตรียมการเกี่ยวกับเรื่องของอาหารน้อยลง ยังมีผลให้ได้รับอาหารที่มีคุณค่าด้อยลง และไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายจนอาจเกิดภาวะทุพโภชนาการ จนเป็นเหตุให้เป็นโรคทางโภชนาการต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน โรคผอม โรคขาดสารอาหารต่าง ๆ โรคกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ เป็นต้น จึงมีการนำอาหารจานเดียว เข้ามาส่งเสริมให้มีการปรุง และบริโภคกันอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
อาหารจานเดียว เป็นอาหารที่ประกอบขึ้นในหนึ่งจานโดยมีปริมาณและคุณค่าอาหารเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายใน 1 มื้อ โดยต้องประกอบด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ ให้เหมาะสมกับ เพศ วัย ความหนักเบาของกิจกรรม และสภาวะของร่างกายของผู้บริโภค พร้อมกันนี้จะต้องมีวิธีการเตรียมและปรุงแต่งอาหารอย่างสงวนคุณค่า สะอาด ถูกหลักอนามัย มีสี กลิ่น รส ที่ดี เครื่องปรุงได้จากอาหารต่าง ๆ ที่หาได้ง่ายและมีในท้องถิ่น วิธีการไม่ยุ่งยาก โดยต้องประหยัดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ
ประโยชน์ของอาหารจานเดียว
1. ให้ปริมาณอาหารและสารอาหารครบตามความต้องการของร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ ลักษณะการทำงานและสภาวะของร่างกาย
2. ประหยัดเวลาแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารแต่ละมื้อ โดยรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการใช้อาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดัดแปลง ประกอบเป็นอาหารปริโภค
3. สร้างอุปนิสัยในการบริโภคเป็นการสร้างพื้นฐานการบริโภคที่ง่าย ประหยัดถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนซึ่งเป็นวัยที่เลือกกินอาหารตามชอบ ทำให้ได้อาหารไม่ครบตามความต้องการของร่างกาย และมีภาวะของโรคขาดสารอาหารต่าง ๆ กันมาก
โดยเฉพาะ เด็กวัยเรียนซึ่งต้องใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนอย่างน้อยวันละ 5-6 ชั่วโมง ส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของโรงเรียนก็คงเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กวัยเรียน ซึ่งอาหารกลางวันก็นับเป็นอาหารสำคัญมื้อหนึ่งของเด็ก การจัดเลี้ยงอาหารจานเดียวให้แก่เด้กในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนต่าง ๆ ก็จะเป็นการลดภาระของโรงเรียนในเรื่องงบประมาณ เวลา แรงงาน ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมให้อาหารมีคุณค่าเหมาะสมกับเด็กวัยเรียนเป็นอย่างดีด้วย
นอกจากอาหารจานเดียวจะเหมาะสมกับเด็กวัยเรียนแล้วจะเป็นว่า ยังได้รับความนิยมในการบริโภคจากประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย เช่น อาหารจานเดียวจำพวก ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เส้นหมี่ ขนมจีน ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ฯลฯ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงอาหารเช้าและอาหารกลางวันของบุคคลวัยทำงาน ทั้งในวันทำงานและแม้แต่ในวันหยุดก็ตาม
สถาบันต่าง ๆ ที่มีการบริการอาหารคนจำนวนมาก ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์เด็ก/ คนชรา โรงงาน โรงทหาร ก็สามารถนำอาหารจานเดียวไปดัดแปลงให้บริการแก่ลูกค้าหรือบุคลากรของต้นได้เป็นอย่างดีและเหมาะสม
ดังนั้น จึงขอเสนอแนะตำรับอาหารจานเดียว 5 ตำรับ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับนำไปใช้ให้เหมาะสมตามความต้องการ โดยมีการกำหนดเครื่องปรุงให้เพียงพอสำหรับ 5 ที่ ทั้งนี้เพื่อสะดวกกับสถาบันที่เล็กที่สุดก่อน คือ สถาบันครอบครัว พร้อมทั้งได้กำหนดหน่วยของเครื่องปรุงเป็นกรัม และเป็นส่วนที่กินได้แล้ว เพื่อง่ายต่อการนำไปดัดแปลงให้บริการอาหารแก่คนจำนวนมากในสถาบันใหญ่ ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ดังรายละเอียดจะกล่าวในภาคต่อไป

กองโภชนาการ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

No comments: